ความเป็นมาของการก่อตั้งมูลนิธิ
มูลนิธิดร.สมนึก ศรีปลั่ง อนุสรณ์แห่งความดีและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล
ดร.สมนึก ศรีปลั่ง เป็นแบบอย่างของผู้ที่จริงจังและให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ทางด้านกสิกรรมและสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร จาก IOWA State University ด้วยทุนรัฐบาล ก.พ.
ภายหลังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ท่านเข้ารับราชการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทำงานด้วยความทุ่มเทซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เป็นทั้งพี่และอาจารย์ของผู้ใต้บังคับบัญชา และด้วยความสามารถ กอปรกับ วัสัยทัศน์อันยาวไกล ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ได้เสนอความคิดใน การออกพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อยกระดับความสำคัญของงานด้านเศรษฐกิจการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านนโยบายและแผน การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ เป็นครั้งแรกสำหรับประเทศไทย ท่านจึงเป็นผู้ริเริมและผลักดันจนพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตรได้รับมาตราเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2522 และจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2522 จนถึง พ.ศ.2531 ท่านเป็น “พี่” เป็น “อาจารย์” ของผู้ใต้บังคับบัญชา นอกจากการก่อตั้งองค์กรแล้วท่านยังได้สร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยการจัดหาทุนการศึกษาระดับปริญญาโทรและเอกทั้งในและต่างประเทศให้กับบุคลากรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวนกว่า 100 คน
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ได้ริเริ่มและพัฒนางานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมากมาย จนทำให้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ประการสำคัญผลงานดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นส่วนร่วม ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรกการจัดตั้งสำนักงานฯ ดังนี้
1.การนำเทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณมาใช้ในการการแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต้น ๆ
2.การปรับปรุงการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลสถิติการเกษตรให้กว้างขวาง สมบูรณ์ถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลา โดยนำวิชาการสถิติ เช่น เทคนิคการสุมตัวอย่างมาใช้ในการสำรวจข้อมูล และนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผลเพื่อความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล
3.การนำระบบข้อมูลภูมิศาสตร์ (GIS) รูปถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ในการปรับปรุงการเก็บข้อมูลและการพยากรณ์ข้อมูลการเกษตร การนำระบบข้อมูลภูมิศาสตร์มาใช้ในการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ และใช้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศ
4.การผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกร เช่น การจัดการด้านอุปทาน (Supply Management) มาตรการด้านราคาสินค้าเกษตร (Price Support) การปรับโครงสร้างการเกษตร เช่น การปรับลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังไปปลูกยางพารา การพยุงราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เป็นต้น
การดำเนินงานต่าง ๆ ที่ท่านได้ริเริ่ม ปัจจุบันบางส่วนยังดำเนินการอยู่ และบางส่วนที่ไม่ได้ดำเนินการในขณะนั้น ได้มีการนำมาดำเนินการในปัจจุบัน จึงกล่าวได้ว่า ดร.สมนึก ศรีปลั่ง เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล
คณะผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรตระหนักถึงคุณความดี และวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่ดี สินค้าเกษตรได้รับราคาที่เป็นธรรม มีอำนาจต่อรองและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการวางฐานราคาที่มั่นคงให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งการพัฒนาบุคลากรและการกำหนดโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับ ภารกิจ ของเศรษฐกิจการเกษตรทั้งในอดีตและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดีงามและเป็นแหล่งรวมใจของบุคลากรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งอดีตและปัจจุบันและเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศต่อไป จึงได้จัดตั้งมูลนิธิ ดร.สมนึก ศรีปลั่ง ขึ้น ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ ดร.สมนึก ศรีปลั่ง แล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560